มันแตกต่างกันอย่างไร? ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายความแตกต่างของมันและวิธีคิดคำนวนครับ
ตรงนี้ต้องขออธิบายในเรื่องค่า Power Factor (P.F.) กันก่อนนะครับ ค่า Power Factor นั้น คือค่าอัตราส่วนของกำลังที่ใช้จริง (Watt) และ ค่ากำลังไฟฟ้าที่ปรากฎ (VA) โดยค่าที่ดีที่สุดคือเท่ากับ "1" แต่ในทางความจริงนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะโหลดนั้นมี 3 แบบซึ่งต่างมีผลกับค่า Power Factor โหลดทั้ง 3 แบบมีดังนี้ครับ
- Resistive Load - โหลดชนิดตัวต้านทาน
- Inductive Load - โหลดชนิดขดลวด
- Capacitive Load - โหลดชนิดตัวเก็บประจุ
เกริ่นเรื่อง Power Factor ไว้แค่นี้พอเข้าใจนะครับ กลับมาวกเข้าเรื่อง UPS หรือ เครื่องสำรองไฟกัน ครับ ค่า VA หรือกำลังไฟฟ้าที่ปรากฎ อันนี้ไม่ต้องสนใจ มันจะสูงกว่าก็ปกติ เรามาสนใจตรงค่ากำลังไฟฟ้าจริงกันครับ เพราะค่านี้จะเป็นตัวบอกว่า มันสามารถจ่ายไฟได้เท่าไหร่ เพียงพอต่อคอมพิวเตอร์ของท่านหรือไม่ เมื่อก่อนนั้นผมไม่ได้สนใจตรงนี้ ซื้อ UPS ก็เอาง่ายๆซื้อแล้วใช้ได้เลย แต่พอนำกลับมาใช้จริงก็เกิดปัญหา เมื่อเวลาไฟดับหรือตกตัว UPS ก็ดับตามทั้งชุด ตอนแรกก็คิดว่า UPS มันไม่ดีมีปัญหา แต่พอนำไปเช็คก็ปกติ ผมจึงเริ่มย้อนกลับมามอง System ของตัวเองว่ากินไฟไปกี่วัตต์ คิดออกมาได้ประมาณ 500-600W (Full Load) ผมจึงหันมามองตัว UPS มันเขียนแค่ว่า 800VA ผมก็สงสัยว่าทำไมถึงจ่ายไม่พอ คิดแบบโง่ๆเลย ตอนนั้นนึกว่า VA กับ W คืออันเดียว (Volt*Amp) แต่เมื่อผมทำการศึกษาให้ดีก็พบว่าสิ่งที่เห็นนั้นผิดหมด จึงต้องเริ่มศึกษากันหมดยวงมันคืออะไรและควรเลือกอย่างไร กำลังที่ UPS จะจ่ายได้นั้นคือ "Pout = VA*PF" โดย Pout คือค่า วัตต์ (W) สำหรับเครื่องสำรองไฟทั่วๆไปนั้นจะมีค่า Power Factor คือ 0.6 (หาก UPS คุณภาพสูงค่า PF สามารถสูงถึง 0.8 ได้เลยทีเดียว)
(UPS ที่ผมมีปัญหาด้วยไม่ใช่ตัวในรูปนะครับ)
หากผมลองคิดดู ก็ Pout = 800VA * 0.6 ก็จะได้ Pout ที่ 480W แต่คอมผมกินไฟถึง 500-600W (Full Load) มันย่อมดับแน่นอนครับ เพราะ UPS มันจ่ายไฟไม่ไหวเลยตัด Protection ป้องกันความเสียหายกับตัวมันเอง ต่อมาผมจึงหา UPS ตัวใหม่คือตัวสีดำในรูป (ตัวสีขาวซื้อคลองถมมาเล่นๆ เห็นถูกดี 555+) หากจะยังจำรุปแรกของบทความได้ 1100VA รูปนั้นก็ถ่ายจากกล่องตัวดำนี่ละครับ คือ APC BX1100CI-AS กำลัง VA คือ 1100VA ลองคิดดู Pout = 1100VA * 0.6 ก็ได้ 660W ตามสเปคเป็ะ ส่วนตัวสีขาวนั้น 800VA แต่สเปคกลับระบุ 540W เลยทีเดียว หากคิดดู 540W = 800VA * PF ก็จะได้ 540W/800VA = PF ผลก็คือ PF = 0.675 โอ้ว สูงกว่าปกติ พอลองแกะ พบว่ามันเป็น Switching Mode ระบบการทำงานแตกต่างจาก UPS ทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิงครับ ทั้งสองตัวนี้สามารถจ่ายไฟให้คอมผมได้ ตัวขาวอาจไม่ไหวเวลาเล่นเกมหรือคอมทำงานหนักๆ อาจจะดับได้ แต่ตัวดำนั้นก็เหลือนิดหน่อย อาจจะมีอาการหืดขึ้นคอได้ถ้าเกิด Peak Load หรือดับแต่โอกาสเกิดนั้่นน้อยจนไม่ต้องสนใจ
ก็จบกันละครับ หากเจอ UPS ไม่ระบุค่า วัตต์ (Watt:W) มา ก็คำนวนได้ง่ายๆ โดยใช้สูตรดังนี้
Pout = VA * PF
โดย
Pout = Watt
PF = 0.6
ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับบทความนี้ อาจจะยาวไปหน่อยไม่ถูกใจวัยรุ่น "ยาวไปไม่อ่าน" ฮ่าๆๆ สำหรับข้อมูลตรงนี้หากผิดยังไงก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย แต่ทั้งนี้การเลือก UPS ก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกยี่ห้อที่เชื่อถือได้ หากยี่ห้อที่เลือกไม่มีคุณภาพ ถึงแม้จะได้วัตต์ที่สวยงาม แต่มันอาจจะไม่เต็มก็ได้ อย่าเสียดายเงินครับ เวลาทำงานสำคัญเกิด UPS ถูกๆเอาไม่อยู่หรือไม่ซื้อมาใช้ งานก็อาจจะหายไปในพริบตา นอกจากนั้นอาจจะพาคอมกลับบ้านเก่าไปด้วยครับ
สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ หากท่านต้องการนำเนื้อหาไปเผยแพร่......ก็นำไปเผยแพร่ได้เลยครับ แต่ก่อนนำไปก็รบกวนตรวจสอบก่อนก็ดี เผื่อผมเขียนอะไรผิด จบเท่านี้ครับ ขอขอบคุณที่ทนอ่าน(ฮ่าๆ) สวัสดีครับ
Article : Piyapol Thanaadirod
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ครับ
ตอบลบขอบคุณครับ
ตอบลบขอบคุณครับ อ่านแล้วเข้าใจง่ายดีครับ
ตอบลบเยี่ยมจริงๆ
ตอบลบแล้วถ้าใช้วัตต์พอดีกับ ยูพีเอสมันจะสำรองไฟได้นานแค่ไหน ไม่เห็นบอก
ตอบลบ